Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดบุรีรัมย์

ปัญหาการค้ามนุษย์

pll_content_description

        “การค้ามนุษย์” หมายถึง การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่นใด ด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวงด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือด้วยการใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้ามนุษย์โดยมิชอบ หรือมีการให้ หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจ ควบคุมบุคคลอื่นเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์ การแสวงประโยชน์อย่างน้อยที่สุด ให้รวมถึงการแสวงหา ประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่นหรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการการเอาคนลงเป็นทาสหรือการกระทำอื่นเสมือนการเอาคนลงเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับ หรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย
         Trafficking in Person Report : TIP REPORT คือ รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรายงานประจำปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำตามกฎหมาย TraffickingVictims Protection Act of 2000 (TVPA) เพื่อเสนอต่อสภาสหรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายงานฯ จะครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง ประเทศทางผ่าน สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่ร้ายแรงจำนวนมาก เนื่องจากการค้ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปทุกประเทศในโลก รายงานเกี่ยวกับประเทศต่างๆ เป็นการบรรยายถึงขอบเขตและลักษณะของปัญหาการค้ามนุษย์ เหตุผลในการรวมประเทศดังกล่าวไว้ในรายงาน และความพยายามของรัฐบาลนั้น ๆ ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ 
        รายงานยังรวมถึงการประเมินผลว่าความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย TVPA ตามที่ได้มีการแก้ไขแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ รายงานยังรวมข้อเสนอแนะในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับการค้ามนุษย์ รายงานส่วนที่เหลือจะอธิบายถึงความพยายามของรัฐบาลแต่ละประเทศในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ คุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อ และป้องกันการค้ามนุษย์ รายงานของแต่ละประเทศจะอธิบายพื้นฐานในการจัดให้ประเทศอยู่ในระดับ 1, ระดับ 2, ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง, หรือระดับ 3 ถ้าประเทศใดถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง รายงานจะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นโดยใช้คำอธิบายซึ่งมีอยู่ในกฎหมาย TVPA ตามที่ได้มีการแก้ไขแล้ว
        ความหมายของการจัดระดับ : Tier 1, Tier 2,Tier 2 Watch list, Tier 3
             ระดับ 1 (Tier 1) : ประเทศซึ่งรัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์ 
             ระดับ 2 (Tier 2) : ประเทศซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตาม มาตรฐานเหล่านั้น ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง (Tier 2 Watchlist) : ประเทศที่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานเหล่านั้น และ 
        ก) จำนวนสุทธิของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์มีจำนวนมาก หรือกำลังเพิ่มขึ้นมาก หรือ 
        ข) ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่ามีความพยายามเพิ่มขึ้นที่จะต่อสู้กับรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์จากปีที่ผ่านมา หรือ 
        ค) การตัดสินว่าประเทศนั้นกำลังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำมาจากการให้คำมั่นสัญญาของประเทศนั้นว่าจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในปีถัดมา 
             ระดับ 3 (Tier 3 ) : ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายาม อย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการดังกล่าว
        กระบวนวิธี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ รายงานที่มีการตีพิมพ์ การเดินทางไปวิจัยในทุกภูมิภาค และข้อมูลที่มีผู้ส่งมาที่ tipreport@state.gov ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้จัดทำขึ้นสำหรับองค์กรเอกชนและบุคคลทั่วไปเพื่อแลก เปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์และปฏิบัติการของรัฐบาลโดย อาศัยการวิจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมไปถึงการพบปะกับข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้แทนองค์กรเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ข้าราชการ นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และผู้ตกเป็นเหยื่อที่รอดมา ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับรายงานประจำปีนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแหล่งข้อมูลของทุกๆ ประเทศด้วยมุมมองใหม่ในการประเมินผล
        การประเมินความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลแต่ละประเทศแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 จำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อที่มีนัยสำคัญ ในขั้นแรก กระทรวงการต่างประเทศกำหนดว่าประเทศนั้นเป็น “ประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน หรือประเทศปลายทาง สำหรับจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อของรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ” โดยยึดหลักทั่ว ๆ ไปว่ามีจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อ 100 คนหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ใช้ในรายงานฉบับก่อนๆ หน้านี้ ในประเทศซึ่งไม่มีข้อมูลดังกล่าว ประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มต่างๆ แต่จะนำมารวมไว้ในส่วนที่เรียกว่ากรณีพิเศษ(Special Case Section) เมื่อประเทศเหล่านี้มีข้อบ่งชี้ว่ามีการค้ามนุษย์ ขั้นที่สอง การจัดกลุ่ม กระทรวงการต่างประเทศจัดให้แต่ละประเทศที่อยู่ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2549 อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในจำนวนทั้งหมดสี่กลุ่ม ซึ่งในรายงานฉบับนี้เรียกว่าระดับ ตามที่ได้รับมอบอำนาจโดยกฎหมาย TVPA การจัดกลุ่มพิจารณาจากระดับของการดำเนินการของรัฐบาลในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์มากกว่าที่จะดูที่ขนาดของปัญหา แม้ว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญก็ตาม ในขั้นต้น กระทรวงการต่างประเทศจะประเมินผลว่ารัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย TVPA ในการที่จะขจัดการค้ามนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่ รัฐบาลที่ดำเนินการดังกล่าวได้สมบูรณ์จะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 1 สำหรับรัฐบาลซึ่งกำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำจะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 รัฐบาลซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ โดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการที่จะดำเนินการดังกล่าวจะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3 และท้ายที่สุดจะนำเกณฑ์สำหรับบัญชีประเทศที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ (Special Watch List) มาพิจารณาและถ้าลักษณะตรงกับที่ระบุไว้ในเกณฑ์ประเทศที่อยู่ในระดับ 2 ก็จะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง
        บทลงโทษที่อาจนำไปใช้กับประเทศที่อยู่ในระดับ 3 รัฐบาลของประเทศในระดับ 3 อาจถูกมาตรการลงโทษบางอย่าง รัฐบาลสหรัฐฯ อาจระงับความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า ประเทศซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวจะถูกปฏิเสธหรือระงับเงินสำหรับการเข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย TVPA รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการคัดค้านจากสหรัฐฯ ในเรื่องของความช่วยเหลือ (ยกเว้นความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า และความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบางอย่าง) จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เป็นต้น
        การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประเทศไทยหยิบยกปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 (The Anti-Trafficking in Persons Act 2008) และกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ. 2554-2559) ที่ให้ความสำคัญ 5 ด้าน คือ การป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน การพัฒนาและการบริหารข้อมูล
        1. กลไกการดำเนินงานในประเทศไทย
        กลไกการดำเนินงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประกอบด้วย คณะกรรมการระดับชาติ 2 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ (2) คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อผลักดันนโยบายระดับชาติ นอกจากนี้ พรบ. ดังกล่าว ยังได้มีการกำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีการใช้เงินทุนในสองส่วน ได้แก่ การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และ การดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนสามารถเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณกองทุนฯ โดยเลขาธิการของกลไกระดับชาติ รวมทั้งการบริหารกองทุนฯ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
        ในระดับจังหวัด มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และในระดับหน่วยงาน หลายหน่วยงานได้จัดตั้งหน่วยงานย่อยที่มีภารกิจเฉพาะ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ภายใต้สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น
        ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกลไกทั้งในระดับชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุติจากภาคประชาสังคมเป็นกรรมการในคณะกรรมการระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ และมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการคัดแยกเหยื่อด้วย
        2. การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
เนื่องจากไทยอยู่ในสถานะประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้ามนุษย์ นโยบายเพื่อแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก (Victim-Centered) และมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแสวงประโยชน์หรือการบังคับใช้แรงงาน การปราบปรามและดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งนโยบายที่ไทยกำลังให้ความสำคัญในปัจจุบัน มีดังนี้
การดำเนินงานเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เหมาะสมของไทย เมื่อเดือนกันยายน 2556 นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมหารือในประเด็นดังกล่าว โดยเน้นการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และประสงค์ให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดได้รับการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยเพื่อให้สามารถอยู่ทำงานในไทยได้อย่างถูกต้องและได้รับสิทธิ/การคุ้มครองทางสังคมต่าง ๆ โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่อง การปรับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวจากเดิมที่มีอยู่ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเตรียมตัวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน
        การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองซึ่งลักลอบทำงานบนเรือประมงปีละ 2 เดือน (2) จัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 7 จังหวัดนำร่อง (3) การประกาศใช้แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลในประเทศไทย (Good Labour Practices Guidelines for Primary Processing Workplaces in the Shrimp and Seafood Industry of Thailand – GLP/PPW) เมื่อเดือนกันยายน 2556 ซึ่งเน้นการขจัดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม และความร่วมมือในสถานประกอบกิจการ การไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ค่าชดเชย ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและสวัสดิการ และ (4) การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจแรงงานประมง
        การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเน้นการดำเนินงานที่การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดย (1) อนุญาตให้อยู่ใน ปทท. ได้ชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการฝึกอาชีพและทักษะ (2) การอนุญาตให้ผู้เสียหายสามารถออกไปทำงานนอกบ้านพักเมื่อมีความพร้อม (3) การดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมให้กับผู้เสียหายจากภาครัฐ และจากผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์
        3. การดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
กระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจที่เกี่ยวข้องในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ ผ่านการดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลทั่วโลก มีส่วนในกระบวนการกำหนดนโยบายโดยคณะกรรมการระดับชาติ และการดำเนินความร่วมมือในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี ซึ่งการดำเนินงานระดับระหว่างประเทศที่สำคัญ มีดังนี้
        3.1 ระดับทวิภาคี
            3.1.1 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขจัดการค้าเด็กและสตรีและการช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์ (MOU on Bilateral Cooperation for Eliminating Trafficking in Children and Women and Assisting Victims of Trafficking) ซึ่งไทยได้มีความตกลงกับกัมพูชา (ปี 2546) ลาว (ปี 2548) เวียดนาม (ปี 2551) และเมียนมาร์ (ปี 2552) โดยกำลังมีความริเริ่มปรับเนื้อหาของ MoUเพื่อให้เป็นปัจจุบันเพื่อสามารถรองรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือกับอีกหลายประเทศที่มีความเป็นไปได้มากว่าจะเป็นต้นทางของผู้เสียหายในประเทศไทย และ/หรือปลายทางของคนไทยที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
            3.1.2 การจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวสารสำหรับการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ (Memorandum of Cooperation between the Government of Japan and Thailand concerning the Exchange of Information for the Purpose of Preventing and Combating Trafficking in Persons) เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องสงสัยในคดีค้ามนุษย์ ขยายผลการจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดทั้งในไทยและญี่ปุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

TOP